การจัดการยุง

การจัดการยุง

1. การจัดการแหล่งเพาะพันธุ์

ขั้นตอนการดำเนินการเริ่มจากการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ ความชุกชุมของลูกน้ำและตัวยุงเพื่อ วางแผนจัดการควบคุม ภายหลังการปฏิบัติงานต้องมีการประเมินผลโดยสำรวจแบบเดียวกับก่อนการควบคุม เพื่อตรวจสอบว่ายุงลดลงหรือไม่ แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงแต่ละชนิดแตกต่างกัน ดังนั้น ต้องมีความรู้เกี่ยวกับชีววิทยาและนิเวศวิทยา ของยุงที่ต้องการกำจัด ดังนี้

1.1 ยุงลาย

เพาะพันธุ์ในภาชนะขังน้ำ เช่น โอ่งใส่น้ำดื่ม-น้ำใช้ บ่อคอนกรีตขังน้ำในห้องน้ำ แจกัน ภาชนะใส่ต้นไม้น้ำ การจัดการต้องเป็นการหาวิธีป้องกันไม่ให้ภาชนะดังกล่าวเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น ปิดฝาภาชนะให้มิดชิดด้วยผ้า ตาข่าย อลูมิเนียม หรือแผ่นโลหะ ทำความสะอาดขัดล้างโอ่ง ระบายน้ำทิ้ง เปลี่ยนน้ำในแจกันทุก 4-5 วัน ในกรณีของวัสดุที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ยางรถยนต์เก่า โอ่ง-อ่างแตก ควร แนะนำให้กำจัดทิ้งไป หรือนำไปดัดแปลงใช้ให้เกิดประโยชน์อื่น เช่น นำไปใส่ดินปลูกพืชสวนครัว เป็นต้น สำหรับแหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ เช่น โพรงไม้ กาบใบพืช กระบอกไม้ไผ่ สามารถป้องกันไม่ให้เป็นแหล่ง เพาะพันธุ์โดยใส่ดินหรือทราย หรืออุดด้วยซีเมนต์ หรือฉีดพ่นสารกำจัดลูกน้ำซึ่งอาจใช้สารเคมีหรือสารชีวภาพ

วิธีการจัดการกับวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เช่น ขวด กระป๋อง โอ่งแตก ไหแตก ถังพลาสติกชำรุด ยางรถยนต์ กะลามะพร้าว เปลือกทุเรียน ถ้วยยางพาราเก่า ๆ เป็นต้น มีดังต่อไปนี้

1.1.1 ฝัง เผาทำลาย หรือเก็บรวบรวมใส่ถุง นำไปทำรองเท้ายาง ถังน้ำ ถังขยะ หรือนำ ไปหลอมกลับมาใช้ใหม่

1.1.2 ยางรถยนต์เก่าอาจนำไปดัดแปลงใช้ประโยชน์ เช่น ปลูกต้นไม้ ทำถังขยะ ชิงช้า เด็กเล่น ทำรองเท้า ทำเก้าอี้ ทำแนวกั้นดินป้องกันการถูกคลื่นเซาะทำลาย ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพยาง มะตอย ใช้เป็นเชื้อเพลิงในระดับอุตสาหกรรม

1.1.3 กะลามะพร้าว เปลือกทุเรียน นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง

1.1.4 เรือบดเล็กหรือเรือชำรุดให้คว่ำไว้เมื่อไม่ใช้งาน

1.2 ยุงรำคาญ

เพาะพันธุ์อยู่ในท่อระบายน้ำ แหล่งน้ำขังที่มีมลภาวะสูง การจัดการปรับสภาพแวดล้อม เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ทำได้หลายวิธี เช่น

1.2.1 การเก็บขยะในแหล่งน้ำขัง เพื่อจะได้ไม่เป็นอาหารของลูกน้ำ และเป็นที่หลบซ่อน ของลูกน้ำ จากการสังเกตพบว่าแอ่งน้ำขังหรือคลองที่ไม่มีขยะลอยอยู่ในน้ำจะไม่ค่อยมีลูกน้ำยุงรำคาญ เพราะไม่มีแหล่งเกาะพักของลูกน้ำ ไม่มีร่มเงา

1.2.2 การกำจัดต้นหญ้าที่อยู่ริมขอบบ่อ

1.2.3 การทำให้ทางระบายน้ำไหลได้สะดวก เพราะยุงรำคาญชอบอาศัยในแหล่งน้ำขัง หรือน้ำนิ่ง ซึ่งมีเศษขยะลอยอยู่บนผิวน้ำ

1.2.4 การถมหรือระบายน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่จำเป็นออก เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ให้น้อยลง

1.3 ยุงก้นปล่อง

เป็นพาหะโรคมาลาเรีย มีแหล่งเพาะพันธุ์ตามลำธาร บ่อพลอย แอ่งหิน แอ่งดิน คลอง ชลประทาน สามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ไม่เหมาะสมโดยการกลบถมปรับปรุงความเร็วของกระแส น้ำเพื่อรบกวนการวางไข่ของยุงและทำให้ไข่ยุงกระทบกระเทือน จัดการถางวัชพืชริมลำธาร ลดร่มเงาและ แหล่งเกาะพัก นอกจากนี้ การใช้สารเคมีบางชนิด เช่น สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ (synthetic pyrethroids) ฉีดพ่นตามฝาบ้านเรือนด้านใน เพื่อไล่หรือฆ่าขณะที่ยุงก้นปล่องมาเกาะพัก

1.4 ยุงพาหะโรคเท้าช้าง

มีแหล่งเพาะพันธุ์ตามป่าพรุ แหล่งน้ำที่มีพืชน้ำ ฉะนั้นการจัดการกับแหล่งเพาะพันธุ์ทำได้ โดยกลบถม หรือทำลายวัชพืช

2. การจัดการโดยชีววิธี

การนำสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติมาควบคุมยุงพาหะให้ได้ผลนั้น ต้องมีปริมาณมากพอที่จะควบคุม ประชากรยุงพาหะได้ สามารถหาได้ในท้องถิ่น และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นตลอดจนสิ่งแวดล้อม เช่น การให้ปลากินลูกน้ำ การจัดการโดยใช้ตัวห้ำ เชื้อรา แบคทีเรีย หรือโปรโตซัว เป็นต้น

3. การจัดการโดยวิธีทางพันธุกรรม

เช่น การทำให้โครโมโซมของยุงพาหะเปลี่ยนไปจนไม่สามารถนำเชื้อได้ การทำให้ยุงเป็นหมันโดย ใช้กัมมันตรังสีหรือใช้วัตถุอันตราย เป็นต้น

4. การจัดการโดยวิธีกล

การลดการสัมผัสระหว่างคนและยุงพาหะ เช่น การใช้มุ้ง มุ้งลวด การสวมเสื้อมิดชิด เป็นต้น

5. การใช้สารในกลุ่มควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง (insect growth regulators; IGRs) แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

5.1 สารคล้ายจูวิไนล์ฮอร์โมน (juvenile hormone analogues) เช่น เมโทพรีน (methoprene) เป็นต้น

5.2 สารยับยั้งการสร้างผนังลำตัวแมลง (chitin synthesis inhibitors) เช่น ไดฟลูเบนซูรอน (diflubenzuron) เป็นต้น

6. การจัดการโดยใช้สารเคมี

การใช้มาตรการควบคุมโดยใช้สารเคมีนี้จะต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมโดยอาศัยความรู้ทาง ชีวนิสัยของยุงพาหะ ระบาดวิทยาของโรค ความเป็นพิษของสารเคมีที่นำมาใช้ เนื่องจากสารเคมีที่นำมาใช้ ในทางสาธารณสุขแล้วมีความปลอดภัยนั้นมีจำนวนไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีที่นำมาใช้พ่นชนิดที่มี ฤทธิ์ตกค้าง หรือนำมาใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานทางการเกษตร เพราะอาจทำให้ยุงพาหะเกิด ความต้านทานต่อสารเคมีนั้นได้ ดังนั้น การควบคุมยุงพาหะโดยการใช้วัตถุอันตรายจึงควรใช้ร่วมกับ มาตรการอื่นด้วย

6.1 สารจากธรรมชาติ (natural products) เช่น สารไพรีทรินส์ซึ่งสกัดจากดอกเบญจมาศ สาร นิโคตินจากใบยาสูบ สารสกัดจากสะเดา (Neem) โล่ติ๊น (Rotenone) เป็นต้น

6.2 การใช้สารกำจัดลูกน้ำ (larvicides) เช่น เทเมฟอส (temephos) เฟนไทออน (fenthion) คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) เป็นต้น temephos 1% เคลือบทราย (sand granules) หรือ เคลือบซีโอไลท์ (zeolite granules) ความเข้มข้นที่แนะนำให้ใช้ 1 พีพีเอ็ม ในน้ำ (10 กรัม ในน้ำ 100 ลิตร) มีฤทธิ์กำจัดลูกน้ำยุงลายได้ 8–20 สัปดาห์ ขึ้นกับพฤติกรรมการใช้น้ำ

6.3 การใช้สารกำจัดยุง

ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้แก่

6.3.1 กลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ (synthetic pyrethroids) เช่น เดลต้าเมทริน (deltamethrin) เพอร์เมทริน (permethrin) แลมป์ดา-ไซฮาโลทริน (lambda-cyhalothrin) เป็นต้น

6.3.2 กลุ่มออร์การ์โนคลอรีน (organochlorine compounds) เช่น ดีดีที (DDT) แต่ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ใน ครอบครองแล้ว

6.3.3 กลุ่มออร์การ์โนฟอสเฟต (organophosphate compounds) เช่น เฟนิโตรไทออน (fenitrothion) มาลาไทออน (malathion) ไดคลอร์วอส (dichlorvos) เป็นต้น

6.3.4 กลุ่มคาร์บาเมต (carbamate compounds) เช่น โพรพอกเซอร์ (propoxur) เบนไดโอคาร์บ (bendiocarb) เมโทมิล (methomyl)

6.4 สารไล่แมลง (repellents)

ใช้ในกรณีที่จัดการยุงแล้วแต่ยังมียุงเหลืออยู่ หรือระหว่างที่มี การระบาดของโรค ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการใช้สารไล่แมลงที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการ ป้องกันตัวเองโดยการทาบริเวณผิวหนัง (topical application) หรือชุบเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ชุบมุ้ง (material impregnation) เช่น ดีอีอีที (DEET หรือ N, N-Diethyl-3 methylbenzamide) การเลือกซื้อ ผลิตภัณฑ์ที่มี DEET เป็นสารออกฤทธิ์ควรพิจารณาปริมาณของสารออกฤทธิ์ว่ามีมากน้อยเพียงไร ผู้ใหญ่ควร ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี DEET อยู่ระหว่าง 10-25% ส่วนเด็กควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี DEET น้อยกว่า 10% และไม่ควร ใช้ต่อเนื่องและไม่ใช้กับเด็กอายุน้อยกว่า 4 ขวบ นอกจากนี้ ยังมีสารที่มีฤทธิ์ในการไล่อีกหลายตัว เช่น SS220 และ racemic 1-[3-cyclohexane-1-ylcarbonyl]-2-methylpiperidine เป็นต้น

7. การประเมินผลการควบคุมประชากรยุง

7.1 การใช้กับดักยุงเพื่อการประเมินผลการควบคุมยุงรำคาญ

เครื่องสามารถล่อยุงได้ด้วยวิธีการโฟโต-คาตาไลซีส (Photo-catalysis) และปลดปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 ) เพื่อล่อยุงตัวเมียและแมลงดูดเลือดให้มาติดกับดัก เหมาะสำหรับการใช้งาน ในพื้นที่ขนาดเล็ก กับดักชนิดนี้จำเปนต้องซื้ออุปกรณ์เสริมเพื่อผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

7.2 การประเมินผลการควบคุมยุงลาย

การใช้คนนั่งจับ และการใช้กับดักยุง ชนิด BG-trap จะใช้ได้ผลดีกว่าการใช้กับดักยุง ชนิดอื่น

โดยสรุปการจัดการยุงไม่ใช่สิ่งที่ยากจนเกินความสามารถของมนุษย์ แต่ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจ และการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม

Visitors: 433,204