วิธีควบคุมมด

การควบคุมกำจัดมดถ้าต้องการให้ได้ผลดีและยั่งยืนเช่นเดียวกับการกำจัดแมลงทั่วไป อันดับ แรก ต้องทราบชนิดของมดที่เราต้องการควบคุม รวมทั้งต้องทราบลักษณะ อุปนิสัย อาหารที่ชอบและ แหล่งที่อยู่อาศัย เพื่อสามารถหาวิธีที่เหมาะสมในการกำจัดมดแต่ละชนิด และควรใช้หลายวิธีร่วมกัน วิธีการควบคุมโดยทั่วไป ได้แก่

1. การควบคุมโดยใช้สารเคมี (chemical control)

1.1 เลือกสารเคมีชนิดที่หาได้ง่ายในบ้านเรือน

เช่น น้ำมันหล่อลื่น น้ำส้มสายชู หยอดลง ไปตามช่องที่มดเดินเข้า–ออก จะสามารถฆ่ามดพวกนี้ได้

1.2 วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน ส่วนใหญ่จะเน้นสารในกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ (synthetic pyrethroids)

หรือวัตถุอันตรายที่มีฤทธิ์ตกค้างนานในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphates) และคาร์บาเมต (carbamates)

ตัวอย่างวัตถุอันตรายที่ใช้ในการกำจัดมดที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา

กลุ่ม pyrethroids

  • อัลฟ่า-ไซเพอร์เมทริน (alpha-cypermethrin)
  • ไบเฟนทริน (bifenthrin)
  • ไซเพอร์เมทริน (cypermethrin)
  • ไซฟลูทริน (cyfluthrin)
  • เพอร์เมทริน (permethrin)
  • ซีต้า-ไซเพอร์เมทริน (zeta-cypermethrin)

กลุ่ม organophosphates

  • คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos)
  • ไดอะซินอน (diazinon)
  • ไดคลอร์วอส หรือดีดีวีพี (dichlorvos or DDVP)
  • เฟนิโตรไทออน (fenitrothion)
  • พิริมิฟอส-เมทิล (pirimiphos-methyl)

กลุ่ม carbamates

  • เบนไดโอคาร์บ (bendiocarb)
  • โพรพอกเซอร์ (propoxur)

1.3 เหยื่อพิษ

การใช้เหยื่อพิษเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการควบคุมกำจัดมด เหยื่อพิษที่ดีต้องไม่มี ส่วนผสมของสารไล่ (repellents) แต่จะประกอบด้วยอาหารที่สามารถดึงดูดให้มดมากินเหยื่อ สารเคมีที่ สามารถฆ่ามดได้ รวมทั้งสารที่ทำให้เหยื่อสามารถผสมกันและคงสภาพอยู่ได้ อาหารที่ผสมอยู่ในเหยื่อพิษ จะแตกต่างกัน เช่น อาจเป็นพวกโปรตีนหรือน้ำตาล ดังนั้น ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของมดซึ่งจะ ชอบอาหารแตกต่างกัน ปกติสารเคมีที่ผสมอยู่ในเหยื่อพิษเพื่อฆ่ามดจะมี 2 ประเภท คือ ประเภทออก ฤทธิ์เร็วฆ่ามดได้ทันทีซึ่งประเภทนี้จะให้ผลเร็ว กับสารเคมีประเภทออกฤทธิ์ช้า ซึ่งประเภทนี้จะเห็นผล ช้ากว่าแต่ให้ผลดีในระยะยาวโดยใช้หลักการที่ทำให้มดนำเหยื่อพิษกลับไปป้อนให้สมาชิกอื่น ๆ ภายในรัง (trophallaxis) เพื่อเป็นการฆ่ามดวรรณะอื่น ๆ รวมทั้งตัวอ่อนที่อยู่ในรังด้วย

อย่างไรก็ตามการใช้เหยื่อพิษจะได้ผลดีเพียงไร จะขึ้นอยู่กับ

  • ชนิดของมด นิสัยในการดำรงชีวิต และบริเวณที่สร้างรัง
  • ตัวของเหยื่อเอง
  • ช่วงเวลาที่วางเหยื่อ
  • การเลือกบริเวณที่วาง
  • อาหารที่ให้เลือก

เทคนิคการวางเหยื่อพิษ

  • เลือกเหยื่อให้เหมาะสมกับชนิดของมด
  • วางเหยื่อบริเวณที่มดเข้ามา ทางเดิน และควรวางหลาย ๆ จุด
  • วางเหยื่อบริเวณที่มดสามารถหาพบได้ง่าย
  • วางเหยื่อบริเวณใกล้รัง ใกล้แหล่งน้ำ
  • วางเหยื่อในปริมาณที่เพียงพอ
  • มีการเติมเหยื่อที่พร่องไป และประเมินว่ามดมีการกินเหยื่อไปเท่าไร
  • ประเมินเป็นระยะ ๆ ว่าเหยื่อที่เลือกนำมาใช้ได้ผลหรือไม่ หรือต้องเปลี่ยนเป็นเหยื่อ ชนิดใหม่
  • ไม่มีกิจกรรมต่าง ๆ ในขณะวางเหยื่อ เช่น ซ่อมบ้าน ทาสี ถูบ้าน เป็นต้น

2. การควบคุมโดยการปรับสภาพแวดล้อม (sanitation and environmental management)

ไม่ควรให้มีแหล่งอาหารของมด โดยเฉพาะแหล่งอาหารตามธรรมชาติอยู่ในบ้านเรือนหรือ บริเวณรอบบ้าน หมั่นสอดส่องดูแลภายในบ้านไม่ให้มีที่ที่เหมาะสมสำหรับมดมาทำรัง และไม่ควรปลูก ต้นไม้ที่มีน้ำหวาน (honeydew) ไว้ใกล้บ้าน เนื่องจากมดบางชนิดอาศัยกินน้ำหวานบนต้นไม้ หรือ มีความสัมพันธ์อยู่ร่วมกับเพลี้ยอ่อนที่อาศัยดูดกินน้ำหวานบนต้นไม้ โดยมดจะเลี้ยงดูป้องกันภัยให้กับ เพลี้ยอ่อน ขณะเดียวกันมดจะได้รับอาหารจากตัวเพลี้ยอ่อนที่ปล่อยออกมา ดังนั้น ถ้าปลูกต้นไม้ที่มี น้ำหวานไว้ใกล้บ้านจะเป็นช่องทางเดินให้มดเข้ามาอาศัยหากินหรือทำรังอยู่ในบ้านได้

3. การควบคุมโดยวิธีกล (mechanical control)

โดยการใช้มือบี้หรือทำลาย ใช้ไม้กวาดกวาดทิ้ง หรือการทำลายรังโดยวิธีต่าง ๆ เช่น ใช้ไฟเผา ตัดรังทิ้งในกรณีที่รังอยู่บนต้นไม้ เป็นต้น

การจัดการมด

การจัดการกับมดที่ก่อให้เกิดปัญหาในที่พักอาศัยทั้งในบ้านเรือนและบริเวณรอบบ้าน รวมทั้ง ในอาคารสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ร้านค้า ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือโกดังเก็บสินค้า ประเภทอาหาร จะมีรายละเอียดของกลวิธีที่จะใช้แตกต่างกันเพื่อให้เหมาะสมกับชนิดของมดและความ ปลอดภัยของสถานที่ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความพอใจของเจ้าของสถานที่ การควบคุมควรให้เห็นผลทั้งใน ระยะสั้นและระยะยาวซึ่งจะมีรูปแบบการควบคุมที่ต่างกัน โดยต้องนำวิธีการควบคุมต่าง ๆ มาใช้ร่วมกัน (pest management) ซึ่งมีวิธีหลัก ๆ ดังนี้

1. การประเมินสถานการณ์ของมด

การเริ่มต้นที่ดีจะนำไปสู่ผลสำเร็จที่ดีในการจัดการมด จึงควรเริ่มต้นด้วยการสำรวจพื้นที่นั้น ๆ ก่อนที่จะดำเนินการควบคุม ให้ตรวจสอบดูความหนาแน่นของประชากรและการแพร่กระจายของมด โดยดูจากร่องรอยทางเดินที่มดงานใช้เป็นประจำเพื่อหาอาหารกลับไปเลี้ยงมดราชินีและตัวอ่อน สำรวจดู รอยแตกตามฝาผนังหรือฝ้าเพดานที่มดใช้เป็นที่อยู่อาศัยของรังย่อย (subcolony หรือ daughter colony) เนื่องจากมดบางชนิด เช่น มดละเอียด สามารถมีรังย่อยได้หลายรังที่แยกจากรังหลัก (main colony) เมื่อประชากรในรังหลักเริ่มมีความหนาแน่น มีอาหารและน้ำพอเพียง และมีสถานที่ที่เหมาะสม ควรทำการสำรวจทั้งในบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้าน เนื่องจากมดละเอียดที่เป็นปัญหาสำคัญนั้นจะมี รังหลักอยู่ภายนอกบ้านและจะมีทางเดินที่มดใช้เพื่อเดินทางจากรังหลักเข้ามาในบ้าน นอกจากนั้น มดงาน จากรังหลักและรังย่อยยังสามารถเดินทางติดต่อระหว่างรังได้ หลังจากที่ได้สำรวจอย่างละเอียดแล้วควร บันทึกและทำแผนที่แสดงรายละเอียดของจุดที่ได้สำรวจและจุดที่จะดำเนินการควบคุม และในขณะ ทำการสำรวจมดต้องทำการเก็บตัวอย่างมดที่พบในบริเวณที่สำรวจนำมาศึกษาว่าเป็นมดชนิดใด ซึ่งบางครั้ง อาจะพบมดมากกว่าหนึ่งชนิดในบ้านก็ได้ จากข้อมูลที่ได้จะทำให้ทราบข้อมูลอื่น ๆ ของมดด้วย เช่น ลักษณะการสร้างรัง ชนิดอาหารที่มดชอบ อุปนิสัยในการหาอาหาร และวงจรชีวิต เพื่อนำมาประกอบ การตัดสินใจเลือกวิธีการควบคุมที่เหมาะสมต่อไป

2. การเลือกใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ร่วมกันในการบริหารจัดการมด

2.1 การจัดการโดยวิธีการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมดต้องการอาหารและน้ำเพื่อการดำรงชีวิต ดังนั้น การที่มดเข้ามาในที่พักอาศัย ก็เพื่อเข้ามาทั้งกินอาหารและนำกลับไปเลี้ยงมดราชินี ตัวอ่อน และมดงานที่ทำงานในรัง ดังนั้น ถ้ามี อาหารและน้ำอย่างพอเพียงและต่อเนื่อง ปริมาณของมดที่พบเข้ามาในบ้านจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงอาจ เข้ามาสร้างรังย่อยในบ้านได้ ทำให้การป้องกันกำจัดมดจะทำได้ยากขึ้น วิธีการที่สำคัญ คือ ควรทำความ สะอาดบ้าน ควบคุมแหล่งอาหาร เก็บอาหารไว้ในที่ที่มดไม่สามารถเข้าไปได้ ดูแลไม่ให้มีเศษอาหาร ตกหล่น และหมั่นเก็บขยะทิ้งให้เรียบร้อย การควบคุมโดยใช้หลักสุขาภิบาลนั้น มีความจำเป็นต้องทำอย่าง สม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะสามารถลดปริมาณของมดลงได้เป็นอย่างดี

2.2 การใช้วิธีการทำลายรังที่อยู่อาศัยของมด มดที่เราพบเห็นอยู่เสมอ คือ มดงาน การควบคุมทำลายมดงานที่พบเห็นไม่ว่าจะโดยวิธีใด ก็ตามจะได้ผลเพียงในระดับหนึ่งในแง่ของการลดปริมาณของมด แต่ถ้าสามารถสำรวจให้พบรังของมด และทำลายมดได้ทั้งรังจะได้ผลดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่จะพบรังหลักของมดเป็นเรื่องยาก สิ่งที่อาจ ทำได้ คือ การสำรวจให้พบรังย่อยของมดที่กระจายอยู่ในบ้าน และดำเนินการกำจัดรังย่อย ๆ เหล่านั้น ในการตามหารังของมดเราอาจสังเกตได้จากร่องรอยที่มดทิ้งไว้ ซึ่งมดจะใช้ทางเดินซ้ำ ๆ ในการเข้ามาหาอาหาร บางครั้งเราอาจวางอาหารหรือเหยื่อพวกน้ำตาลหรือโปรตีนที่ปราศจากสารพิษ (survey bait) เพื่อล่อให้มดเข้ามา ซึ่งอาจต้องทำซ้ำ ๆ แล้วติดตามเพื่อค้นหารังของมดให้พบแล้วทำลายรังเหล่านั้น

2.3 การปรับสภาพแวดล้อมของสถานที่ วิธีนี้เป็นการปรับปรุงสถานที่ไม่ให้มีความเหมาะสมที่มดจะเข้ามาสร้างรังย่อยภายในบ้าน เช่น ถ้าพบรอยแตก หรือช่องทางเดินตามบ้านที่มดใช้เป็นทางเดินจากภายนอกเข้ามาในอาคารเพื่อหา อาหารและน้ำ ให้ทำการอุดหรือปิดช่องทางเดินเหล่านั้น วิธีนี้จะเป็นผลดีช่วยป้องกันไม่ให้มดกลับเข้ามา ได้อีก หลังจากได้ควบคุมมดนั้นแล้วด้วยวิธีต่าง ๆ ควรหมั่นสอดส่องดูแลภายในบ้านไม่ให้มีที่ที่เหมาะสม สำหรับมดใช้เป็นที่ทำรังย่อย เช่น ทำการซ่อมแซมรอยแตกของบ้าน ตามฝ้าเพดาน หรือฝาผนัง ไม่ควร ปลูกต้นไม้ที่มีน้ำหวานไว้ใกล้บ้าน เนื่องจากน้ำหวานเป็นอาหารทางธรรมชาติของมดละเอียดบางชนิด ซึ่ง เมื่อมดขึ้นมากินน้ำหวานบนต้นไม้ที่ปลูกอยู่ใกล้บ้าน ต้นไม้นั้นจะเป็นทางให้มดเข้ามารบกวนหรือเข้ามา สร้างรังย่อยในบ้านได้ หรือมดที่อยู่ร่วมกับเพลี้ยอ่อนซึ่งอาศัยกินน้ำหวานจากต้นไม้ก็สามารถอาศัยต้นไม้ เข้ามาในบ้านได้เช่นกัน

2.4 การจัดการมดโดยใช้สารเคมี เป็นทางเลือกหนึ่งที่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ควรเลือกใช้สารเคมี เมื่อประชากรมดมีจำนวนมากจนถึงระดับที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเจ้าของบ้านไม่สามารถยอมรับได้ การพิจารณาเลือกชนิดของวัตถุอันตรายต้องเลือกใช้ตามสถานการณ์และสถานที่ รวมทั้งดูว่าเป็นการใช้ เพื่อควบคุมมดในบ้านหรือนอกบ้าน เพราะประเภทของวัตถุอันตรายที่ใช้จะมีพิษตกค้างที่แตกต่างกัน

การเลือกใช้วัตถุอันตรายมีหลักการ ดังนี้

  • ต้องมีประสิทธิภาพสูง ออกฤทธิ์เร็วต่อแมลงที่ต้องการกำจัด โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการ ประกอบการตัดสินใจ
  • เป็นพิษต่ำต่อคน สัตว์อื่น ๆ และแมลงที่มีประโยชน์ เช่น แมลงศัตรูธรรมชาติ โดยมี ค่า LD 50 สูง
  • ต้องมีความคงตัวและสามารถตระเตรียมได้ง่าย
  • ไม่ติดไฟง่าย ไม่มีกลิ่นเหม็น
  • ไม่มีคุณสมบัติกัดกร่อนและเปรอะเปื้อนหลังจากการใช้
  • รูปแบบของวัตถุอันตรายนั้นต้องเหมาะสมกับสถานที่ที่จะใช้ เช่น ใช้ในบ้านหรือนอก บ้าน โดยพิจารณาจากการมีพิษตกค้างเป็นหลัก
  • ต้องใช้ตามความเข้มข้นที่เหมาะสม ตามที่ฉลากแนะนำ
  • ใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับรูปแบบของวัตถุอันตราย และใช้ให้ถูกวิธี

2.5 การใช้วิธีแบบผสมผสาน ได้แก่ การใช้วิธีต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วร่วมกันตามความเหมาะสม แล้วแต่ชนิดของมดนั้น เพื่อให้ได้ผลดีในการจัดการ

โดยสรุปในการควบคุมมดนั้น เมื่อใดก็ตามที่พบมดเข้ามารบกวนภายในบ้าน การฆ่ามดที่เห็นแม้ จะเป็นจำนวนมากจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ กุญแจที่สำคัญในการควบคุมมด คือ การหารังมด ให้พบ โดยจะต้องทราบชนิดของมดนั้นก่อน โดยเราอาจวางอาหารพวกน้ำตาลหรือโปรตีนเพื่อล่อให้มด เข้ามากิน แล้วติดตามเพื่อค้นหารังมดที่อยู่นอกบ้านบนพื้นดินหรือใต้พื้นดิน อาจสังเกตรังมดนอกบ้าน ใต้พื้นดินจากกองดินพูนขึ้นมาหรือมีขุยดินที่มีช่องทางที่มดเข้า–ออกอยู่บนดิน ส่วนมดที่สร้างรังภายในบ้าน อาจสร้างรังอยู่ตามฝาบ้าน บางครั้งเมื่อพบรังมดอยู่ตามรอยแตกของบ้านหรือมดที่เข้ามาหาอาหารในบ้าน เราต้องทราบว่ารังหลักของมดนั้นอาจอยู่ไกลออกไปจากบริเวณนั้น

ในการใช้วัตถุอันตรายเพื่อกำจัดมดนั้น อาจใช้เพื่อป้องกันหรือตัดทางเดินไม่ให้มดเข้ามาในบ้าน รวมทั้งเราสามารถใช้อุปกรณ์กีดขวางกั้นบริเวณกรอบประตู-หน้าต่าง รอยแตกของบ้าน และทางเดิน ระหว่างกำแพงกับพื้นบ้าน วัตถุอันตรายที่ใช้อาจเป็นรูปผงหรือเม็ดเคลือบขนาดเล็กซึ่งจะได้ผลดี เนื่องจาก มดจะขนกลับไปที่รังและฆ่าสมาชิกที่อยู่ในรังได้ การใช้วัตถุอันตรายเป็นตัวกั้นมีผลดี คือ สามารถป้องกัน การเข้ามาขยายรังในบ้านของมดบางชนิดได้ ส่วนการใช้วัตถุอันตรายเพื่อกำจัดรังมดนั้น ถ้าไม่สามารถ ค้นหารังได้อาจโรยวัตถุอันตรายบริเวณที่คิดว่าใกล้รังมดมากที่สุด วัตถุอันตรายที่ใช้ควรเป็นชนิดผง เนื่องจากสามารถฟุ้งกระจายเข้าไปข้างในรังได้ดี มีฤทธิ์ตกค้างได้นาน และมดสามารถขนกลับไปที่รังได้

ส่วนการใช้เหยื่อพิษจะให้ผลดีถ้าเหยื่อนั้นสามารถดึงดูดให้มดเข้ามากินได้ การวางเหยื่อพิษ ควรวางบริเวณทางเดินซ้ำ ๆ ที่มดเคยเข้ามากินอาหาร ในบริเวณนั้นต้องไม่มีอาหารอย่างอื่นให้มดได้เลือก รวมทั้งน้ำ และควรวางหลาย ๆ วันติดต่อกัน โดยไม่คิดหวังผลในวันเดียว วัตถุอันตรายที่ใช้ผสมในเหยื่อพิษ ส่วนใหญ่ เช่น กรดโบริก (boric acid) ไฮดราเมทิลนอน (hydramethylnon) อะบาเมคทิน (abamectin) เป็นต้น ผสมกับอาหารชนิดต่าง ๆ

การดำเนินการควบคุมมด ถ้าจะให้ได้ผลดีควรใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันและต้องดำเนินการอย่าง ต่อเนื่อง เลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับบ้านและคอยสังเกตพฤติกรรมของมดชนิดที่พบ อาจพบมดชนิดเดียว หรือพบพร้อม ๆ กัน 2-3 ชนิด ในบ้านได้ การควบคุมสามารถจะทำไปพร้อม ๆ กัน สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้อง ไม่ลืม คือ ความสะอาด ดูแลเกี่ยวกับสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อมในบ้านให้ดี

3. การประเมินสถานการณ์ของมดหลังการควบคุม

การประเมินสถานการณ์ของมดหลังจากที่ได้ดำเนินการควบคุมตามหลักการจัดการแบบผสมผสาน แล้ว จะช่วยให้ทราบว่าวิธีต่าง ๆ ที่เลือกใช้นั้นมีความถูกต้องเพียงไร สามารถลดปริมาณของมดจนถึง ระดับที่เราพอใจหรือจนถึงระดับที่ไม่พบมดในบ้านเลยได้หรือไม่ ถ้าสามารถทำได้หมายถึงความสำเร็จในการจัดการมดในบ้านเรือน แต่ถ้าได้ผลยังไม่เป็นที่พอใจ การประเมินสถานการณ์ของมดหลังจากการ ควบคุมจะช่วยให้เราปรับหาวิธีการจัดการมดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การจะเลือกใช้รูปแบบการจัดการมดแบบใดต้องดูตามความเหมาะสม ได้แก่ ความรุนแรงของปัญหา ลักษณะและขนาดของสถานที่ ชนิดของมดที่ต้องการควบคุม ระยะเวลาของ การดำเนินการ รวมทั้งงบประมาณที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถเห็นผลที่ดีและเด่นชัดในการควบคุมกำจัดมด คือ สามารถกำจัดมดได้ร้อยละ 90-100

 

Visitors: 434,410