มอดข้าวเปลือก

ชื่ออื่นๆ                                    มอดหัวป้อม  มอดหัวไม้ขีด  Australian wheat weevil

ชื่อวิทยาศาสตร์                      Rhyzopertha dominica F.

วงศ์                                         Bostrichidae

อันดับ                                     Coleoptera

 

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของข้าวเปลือก ข้าวสาลี ทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัย ร่วมกันทำลายโดยเจาะรูและทำลายภายในเมล็ดพืช ที่สำคัญคือสามารถเจาะทำลายเปลือกเมล็ดรวมทั้งข้าวเปลือกซึ่งแมลงชนิดอื่นเข้าทำลายได้ยาก ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ในช่องว่างหรือบนพื้นผิวส่วนที่หยาบของเมล็ด นอกจากนี้ยังพบทำลายข้าวสาร แป้ง มันสำปะหลังแห้ง ถั่วชนิดต่างๆ แต่ไม่สามารถเจริญเติบโตในถั่วเหลือง แม้ว่าจะมีรายงานว่าเข้าทำลายตั้งแต่ในไร่ แต่พบในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่เข้าทำลายระยะหลังเก็บเกี่ยว

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย

ตัวเต็มวัยมีรูปร่างทรงกระบอกสีน้ำตาลเข้มปนแดง ยาว 2-3 มิลลิเมตร  ส่วนหัวสั้น และงุ้มซ่อนอยู่ใต้อกปล้องแรก ต้องมองดูด้านข้างจึงจะเห็นส่วนหัวได้ชัด เวลามองดูด้านบนจะดูเหมือนว่าส่วนอก ปีกคู่หน้ามีหลุม (puncture) เรียงเป็นแถวอย่างมีระเบียบ โดยมีขนสั้นๆปกคลุม หนวดมี 10 ปล้อง ปลายหนวด 3 ปล้องสุดท้ายเป็นรูปกระบอง ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ประมาณ300-500 ฟอง โดยวางเป็นกลุ่มตามรอยแตก หรือรอยกะเทาะบนเมล็ด หรือวางเป็นฟองเดี่ยวๆ ตามเศษผงในกองข้าว ระยะไข่ประมาณ 6-10 วัน ไข่จะฟักเป็นตัวหนอน ซึ่งมีลักษณะสีขาวขุ่น ตัวหนอนลอกคราบ 3-5 ครั้ง จึงเข้าดักแด้ภายในเมล็ด แล้วเจาะเมล็ดออกมาเมื่อเป็นตัวเต็มวัย ระยะหนอน 21-28 วัน ระยะดักแด้ 6-8 วัน วงจรชีวิตใช้เวลา 1 เดือนขึ้นไป ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่นาน 5 เดือน หรือมากกว่านี้

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด

มอดข้าวเปลือกมีการแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีการปลูกข้าว มักระบาดในประเทศเขตอบอุ่น และเขตร้อนตลอดปี

พืชอาหาร

ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวสาลี พืชหัว มันสำปะหลังแห้ง ไม้แห้ง  และถั่วชนิดต่างๆ

ศัตรูธรรมชาติ   

แตนเบียนทำลายหนอน ได้แก่ Anisopteromalus calandrae, Theocolax elegans และ Lariophagus distinguendus

ตัวห้ำ ได้แก่ Peregrinator biannulipes

Visitors: 434,310