อาการเกิดพิษของวัตถุอันตราย กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต

กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต เช่น

1. ไดคลอร์วอส หรือดีดีวีพี (dichlorvos or DDVP)

2. มาลาไทออน (malathion)

3. เทเมฟอส (temephos)

4. คลอร์ไพริฟอส (chlorpyriphos)

5. ไดอะซินอน (diazinon)

อาการเกิดพิษ

  • กรณีที่ได้รับพิษไม่รุนแรง จะมีอาการอ่อนเปลี้ย ปวด ศีรษะ เวียนศีรษะ ตาพร่า เหงื่อและน้ำลายออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ในรายที่ได้รับพิษรุนแรงปานกลาง จะมีอาการเดิน ไม่ไหว อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก รูม่านตาหรี่ และมี อาการคล้ายกรณีที่ได้รับพิษไม่รุนแรงแต่อาการจะ รุนแรงขึ้น
  • ในรายที่ได้รับพิษรุนแรงมาก จะมีอาการหมดสติ รูม่านตาหรี่มาก กล้ามเนื้อกระตุก น้ำมูกไหลมาก หายใจขัด โคม่า และตายได้

เมื่อมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับการใช้วัตถุอันตรายเกิดขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้

1. สอบถามข้อมูลจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ได้แก่ ชื่อผู้ป่วย ปริมาณที่ได้รับ วิธีที่ได้รับ ระยะเวลาที่ได้รับ อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับผู้ป่วย เช่น การดื่มสุรา หรือประวัติการรับประทานยา เป็นต้น 

2. ค้นหาภาชนะบรรจุ ฉลาก และอุปกรณ์ที่ใช้ฉีดพ่นวัตถุอันตราย ร่องรอยที่หกรดบนพื้นหรือเสื้อผ้า และการชำรุดของเครื่องมือที่ใช้

3. ดมกลิ่น สังเกตดูว่ามีกลิ่นผิดปกติหรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าวนี้ จะช่วยให้ทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของผู้ป่วย สาเหตุ และที่มาของการเกิด อุบัติเหตุ ชนิดของสารที่ทำให้เกิดพิษ และบริเวณที่ได้รับพิษ ซึ่งจะช่วยให้การปฐมพยาบาลผู้ป่วยดียิ่งขึ้น

การปฐมพยาบาล

กรณีที่สัมผัสถูกผิวหนัง

  • ควรจัดเตรียมน้ำในปริมาณที่เพียงพอไว้ในบริเวณที่สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์อื่นอาจ สัมผัสถูกผิวหนัง
  • ให้ถอดเสื้อผ้าที่ถูกสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์อื่นออกทันที
  • ล้างบริเวณผิวหนังและเส้นผมที่สัมผัสถูกสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์อื่น ด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงการขัดถูอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้สารถูกดูดซึมมากขึ้น
  • ค่อย ๆ เช็ดบริเวณที่สัมผัสสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์อื่นให้แห้ง และอาจห่อด้วยผ้าอย่าง หลวม ๆ
  • หากจำเป็น หากผิวหนังเกิดอาการไหม้ ให้ห่อด้วยผ้าสะอาดอย่างหลวม ๆ หลีกเลี่ยงการทาขี้ผึ้ง ครีมเหนียว แป้ง หรือยาอื่นใด ยกเว้นกรณีที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ให้ทิ้งเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนถูกสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์อื่น โดยใส่ถุงพลาสติกแล้วแยกทิ้งใน ถังขยะอันตราย หรือหากจะนำไปซักให้แยกซักจากเสื้อผ้าปกติ

กรณีเข้าตา

เนื่องจากสารที่เข้าตาจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว จึงต้องรีบปฏิบัติดังนี้

  • ดึงหนังตาแล้วรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด ห้ามใช้สารเคมีหรือยาอื่น ยกเว้นกรณีที่ได้รับคำแนะนำ จากแพทย์
  • การล้างตา ให้ล้างผ่านตาไม่ใช่ล้างน้ำตรงเข้าไปในตา
  • ล้างตาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน 15 นาที และหากเป็นที่ตาข้างเดียว ต้องระวังไม่ให้ถูกตา อีกข้างหนึ่ง
  • ปิดตาด้วยผ้าสะอาด แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที • • • •

กรณีสูดดม

  • ให้รีบนำผู้ป่วยไปยังบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก (ไม่ควรให้ผู้ป่วยเดินเอง)
  • อย่าพยายามเข้าไปช่วยผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารพิษโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัว
  • หากมีคนอยู่ในบริเวณนั้น ให้รีบแจ้งเตือนให้ออกจากบริเวณดังกล่าว
  • ให้ผู้ป่วยนอนลง และคลายเสื้อผ้าของผู้ป่วยให้หลวม
  • ทำให้ผู้ป่วยอบอุ่นและสงบ ระวังมิให้ผู้ป่วยหนาวหรือร้อนเกินไป
  • หากผู้ป่วยมีอาการชัก ให้ระวังไม่ให้ศีรษะของผู้ป่วยชนสิ่งใด และสังเกตดูการหายใจของผู้ป่วย
  • จับให้ผู้ป่วยเงยหน้าเพื่อให้ช่องคอเปิด และหายใจสะดวก
  • หากผู้ป่วยไม่หายใจหรือหายใจผิดปกติ ให้ทำการช่วยหายใจ

กรณีเข้าปาก

  • หากได้รับสารเคมีปองกันกำจัดแมลงและสัตว์อื่นเข้าทางปาก หากยังไม่กลืนเข้าไปให้รีบล้างบ้วนปาก ด้วยน้ำจำนวนมาก จากนั้นให้ดื่มนมหรือน้ำจำนวนมาก
  • หากกลืนกินเข้าไปแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ควรจะทำให้ผู้ป่วยอาเจียนหรือไม่ ซึ่งการทำให้ อาเจียนจะทำได้เฉพาะกรณีที่ฉลากแนะนำไว้เท่านั้น เนื่องจากสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์ อื่นบางชนิดอาจทำให้เกิดอันตรายจากการทำให้อาเจียนมากกว่าการที่ปล่อยทิ้งไว้เสียอีก

ห้ามทำให้อาเจียนในกรณีดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยหมดสติ หรือมีอาการชัก
  • สารที่กินเป็นสารกัดกร่อน เช่น กรด หรือด่าง เนื่องจากการอาเจียนจะทำให้สารย้อนกลับขึ้น มาทำลายเนื้อเยื่อที่คอและปากอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังอาจสำลักสารเข้าสู่ปอดทำให้เกิดการ ไหม้และทำลายเนื้อเยื่อปอดได้
  • สารที่กินเป็นผลิตภัณฑ์ประเภท EC (emulsifiable concentrates) หรือ OL (oil miscible liquids) ซึ่งมีส่วนผสมของตัวทำละลายประเภทปิโตรเลียม ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้หากสำลัก เข้าสู่ปอดในขณะที่ทำให้อาเจียน

 

Visitors: 432,548